2551-12-02

พระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย


พระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยของพระองค์แสดงชัดในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านภาษา พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในวโรกาสต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักธุรกิจและนักหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์กเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสหรัฐอเมริการ เมื่อ พ.ศ.2510 ดังนี้
“… การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวังหรือแม้แต่คำพูดต่างๆ เพียงนิดเดียวก็สามารถจะทำลายงานที่ผู้มีความปรารถนาดีทั้งหลายพยายามสร้างไว้ด้วยความยากลำบากเป็นเวลาแรมปี... เหมือนฟองอากาศนิดเดียว ถ้าเข้าไปอยู่ในเส้นเลือดก็จะสามารถปลิดชีวิตคนได้ทั้งคน และน้ำตาลหวานๆ ก้อนเล็กนิดเดียว ถ้าใส่ลงในถังน้ำมันรถ ก็จะทำให้เครื่องจักรดีๆ ของรถเสียได้โดยสิ้นเชิง... ”
จากพระราชดำรัสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุปมา ” คำพูดเล็กๆ น้อยๆ ” เปรียเทียบกับ “ ฟองน้ำ ” และ “ น้ำตาล ” ว่าสามารถทำลายสิ่งที่สร้างมาด้วยความยากลำบากได้ เช่นเดียวกันกับฟองอากาศและน้ำตาลแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าฟองอากาศเข้าไปอยู่ในเส้นเลือด และน้ำตาลเข้าไปอยู่ในเครื่องยนต์แล้วทั้งเครื่องยนต์และเส้นเลือดก็จะถูกทำลายลงได้
นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาละติน ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องศัพท์ ที่มาของศัพท์ และรากศัพท์ อีกทั้งยังสนพระทัยและค้นคว้าเกี่ยวกับศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะทรงเข้าพระทัยว่าหากเข้าใจศัพท์และที่มาของศัพท์แล้วจะช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมะได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ภาษาในด้านการพระราชนิพนธ์ร้อยกรองคำอวยพรปีใหม่มอบแด่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศซึ่ง ส.ค.ส.ฉบับแรกปี พ.ศ. 2529 เพื่อเป็น ส.ค.ส.พระราชทานปี พ.ศ. 2530 โดยพระราชทานให้แก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงพริ้นต์จากคอมพิวเตอร์และส่งแฟกซ์พระราชทานไปยังหน่วยงานโดยทั่วถึงกัน ส.ค.ส.พระราชทานแต่ละปี จะประมวลจากเหตุการณ์บ้านเมืองในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยถ้อยคำที่สั้นๆ แต่มากด้วยคุณค่าทรงเน้นในการเตือนและให้กำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ซึ่ง ส.ค.ส.ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสีขาว – ดำ ทั้งสิ้น
ด้านวรรณกรรม ผลงานด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีทั้งพระราชนิพนธ์ทรงแปลและพระราชนิพนธ์ทรงแต่งหลายเรื่องด้วยกันพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 ” ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ซึ่งพระราชนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ในเรื่อง “ พระราชานุกิจ ” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล 100 วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ 20 กันยายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลและเรียบเรียงบทความจากวารสารต่างๆ หลายเรื่อง

ไม่มีความคิดเห็น: