2551-12-02

คำสอนของพ่อเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”


วิกฤต...อะไรที่ควรทำ อะไรที่ควรเว้น
ในระยะนี้ที่บอกว่าเป็นระยะวิกฤตก็ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า “อะไรที่ควรจะทำ อะไรที่ควรจะเว้น” ที่ท่านเห็นอยู่บนเวทีนี้คงแปลกใจ ทำไมจะมาตี “กลองยาว” หรืออย่างไร แต่ว่าข้อสำคัญหีบที่ใส่กลองยาวนี้เห็นได้ชัดว่า เขียนว่า “เมดอินไทยแลนด์”
เมดอินไทยแลนด์นี่จะเป็นประโยชน์ ถ้าเรามาใช้ของไทย ซื้อของไทย เที่ยวเมืองไทย กินข้าวไทย อันนี้จะได้ประโยชน์ แต่ว่าก็ไม่แก้ปัญหา ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อผู้ที่ทำกลองนี้เขาเป็นบริษัท เป็นร้านที่นำเข้าสินค้าที่เขาขาย เขาบอกแย่ เพราะเขานำเข้ามา ก็ต้องเสียเงินแพง และต้องขายในราคาเดิมที่มีการตกลงว่าจะขาย เขาบอกขาดทุน แต่เขามีความคิดอยู่ เขาสามารถที่จะผลิตกลองนี้และส่งนอก ส่งไปที่อเมริกาส่วนหนึ่ง ส่งไปที่ยุโรปส่วนหนึ่ง และเขาทำงานหนัก ก็เพิ่งได้ส่งไป หมายความว่า เขาถัวกับที่เขาสั่งเข้า เขาถัวไปก็ยังพอไปได้ ถ้ากลองนี้เป็นที่นิยมมาก ก็สามารถที่จะมีกำไรและประเทศชาติก็จะมีกำไรไปด้วย
หมายความว่า การสั่งของจากต่างประเทศ มีความจำเป็นบ้างในบางกรณีแต่ก็สามารถที่จะส่งออกนอก ซึ่งผลิตที่ทำในเมืองไทย ไม้ที่ใช้ก็เป็นไม้ที่มีในเมืองไทย คือเป็นไม้ที่โดยมากก็ไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ใช่ไม้ต้องห้าม อย่างที่เขาห้ามตัดป่าไม้ ไม่ใช่ไม้ที่เป็นป่าไม้ เป็นไม้ยางพารา ไม้ยางพาราที่ต้องเปลี่ยนเพื่อให้มีผลผลิตยางให้ดี เขาก็เปลี่ยน เขาก็ตัดยางเก่าเอามา โดยมากก็ไม่ได้ใช้มากนัก มาตอนหลังเขาใช้ทำเครื่องเรือน แต่สำหรับในกรณีนี้เขาลงไปภาคใต้ไปซื้อไม้ยางพารา มาด้วยตนเองแล้วมาทำกลองนี้ มีกลองแบบกลองยาวและมีกลองเล็กๆ ใช้ไม้ในเมืองไทย และที่ขึงหนังบนกลองก็เป็นสิ่งที่ผลิตในเมืองไทยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสามารถทำให้มีการส่งออกสิ่งของ ที่ทำด้วยวัตถุดิบในเมืองไทยและทำด้วยแรงงานของคนไทย อันนี้เป็นการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตอย่างดี เป็นของเอกชน เขาทำเอง แต่ก็ต้องเหน็ดเหนื่อย เขาบอกเหนื่อยมากจะเป็นโรคประสาท เพราะว่าทำไม่ทันที่จะส่ง แต่เมื่อส่งแล้ว เขาก็มาพบและมามอบผลิตผลของเขา และบอกว่าสบายใจขึ้น อันนี้เป็นวิธีแก้ไข ที่เห็นเป็นประจักษ์ว่า ทำได้ แต่ต้องมีความเพียร ต้องมีความอดทน
ดังนี้ ทำให้ได้คิดว่า ทำไมวิกฤตการณ์เกิดขึ้นได้ เราเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ และเราได้ชื่อว่ากำลังก้าวหน้า ไปสู่เมืองที่เป็นมหาอำนาจทางการค้า ทำไมเกิดวิกฤตการณ์ ความจริงวิกฤตการณ์นี้เห็นมาแล้ว แต่ไม่รู้ตัวมา 40 กว่าปี เมื่อ 40 กว่าปี มีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาขอเงิน ที่จริงเคยได้ให้เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ เขาบอกไม่พอ เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน ก็บอกเอ้าให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายรับคือเงินเดือนของเขา และรายรับที่อุดหนุนเขา ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น ไม่เคยทราบ คือมีรายการหนึ่งบอกว่า “ค่าแชร์” แล้วอีกตอนหนึ่งก็มีค่าแชร์อีก
ก็ถามเขาว่า “แชร์” คืออะไร ? เขาก็อธิบายว่า เป็นเงินที่จ่ายให้เจ้ามือทุกเดือน และเมื่อเดือดร้อนก็ขอประมูลแชร์ได้ แต่ประมูลนี้หมายความว่า สมมติแชร์ 100 บาท เขาจะได้รับคล้ายๆ เป็นเงินกู้ เงินควรจะเป็นเงิน 1,200 บาทในปีหนึ่งก็ควรจะดี แต่ว่าเขาไม่ได้ 1,200 บาท เขาได้ 800 บาท หรือ 700 บาท แล้วแต่ประมูลได้ แล้วคนที่มีเงินเขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ในแชร์นั้น พอถึงเวลาเขา ก็ได้กลับคืนเงินมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างนี้ถามเขาว่า สามารถจะหมุนเงินนี้ได้หรือเปล่า ? ถามว่าทำไมแชร์แล้วยังซ้ำแชร์อีก เขาบอกว่า สำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น ต้องทำแชร์สัปดาห์ 7 วันนี้ เขาเปียแชร์มาเพื่อไปใช้ค่าแชร์เดือน เขานึกว่าเขาฉลาดและความจริงแชร์นี้ไม่ใช่เฉพาะคนนี้ทำ แต่ทั่วไปทุกแห่ง ทั้งราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัททุกส่วน แม้เอกชนก็มีแชร์ เลยบอกให้เขาเลิกแชร์และให้ทำบัญชีมา ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว เขาสามารถที่จะมีเงินพอใช้ เพราะว่าบอกเขาว่า เรามีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเรา เพราะการทำแชร์เท่ากับเป็นการกู้เงิน กู้เงินนำมาใช้ในสิ่งที่ไม่มีรายได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ
มีอีกรายหนึ่งในระยะนั้นเมื่อ 40 ปีมาแล้ว เขาขอกู้เงิน 30,000 บาท เอาไปซื้อเครื่องมือ สำหรับตัดเย็บผ้าให้ภรรยาทำร้านก็ตกลงให้เขา ในที่สุดเมื่อเขาตั้งร้านแล้ว เขาก็เอาเงินมาคืน ทุกเดือนสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมดจำนวนที่ได้ให้กู้ ด้วยความฉลาด ด้วยความซื่อสัตย์ของเขา รู้ว่ากิจการนี้จะทำให้มีกำไรได้ สามารถที่จะคืนเงินมาให้ครบจำนวนที่กู้ ต่อไปเป็นกำไรทั้งนั้นก็ชมเขาว่าดี คนนี้เขาเป็นคนซื่อสัตย์ ในที่สุดมาเป็นคนที่ช่วยในด้านช่างฝีมือ และได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์จนกระทั่งถึงสิ้นอายุ
มีอีกรายหนึ่ง เขาเอาหัวเข็มขัดมาให้ เราถามว่าหัวเข็มขัดนี้เอามาให้ทำไม ในที่สุดทราบว่าเขาขอกู้เงิน อันนี้เป็นสิ่งที่ประหลาดเพราะว่าเขาไม่มีเงินใช้ ทำไมไปซื้อหัวเข็มขัดซึ่งก็ราคาไม่ใช่ถูก แล้วเอามาให้ เลยบอกเขาว่าไม่ให้ เพราะทราบดีว่าถ้าให้เขา เขาจะไม่มีเอามาใช้เรา กู้เงินจะให้เขาก็มี แต่ว่าถ้าให้เงินเขาแล้วก็ไม่มีผล คือเขาเอาไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผลอย่างผู้ที่ขอกู้สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็นการทำให้คนเขายิ่งเสียใหญ่ อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสอน กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์
อันนี้มีอีกคนหนึ่ง เขาจะแต่งงานและขอกู้เงิน เลยนึกว่าคนนั้นเขาทำงานมาดี น่าจะให้เหมือนเป็นรางวัลเขา ก็ให้เงินเขา 10,000 บาท สมัยโน้น 10,000 บาทมิใช่น้อย 10,000 บาทเพื่อไปจัดงานแต่งงานของเขา เขาก็ตกลงแต่งงานและยังไม่ได้คืนเงิน ไม่ค่อยถืออะไร เพราะว่าเขาแต่งงาน เขามีความสุขก็ดีไป เขาทำงานได้ดี แต่หารู้ไม่สักปีสองปีให้หลัง เขามาขอเงิน 30,000 บาท ก็บอกเอ๊ะ ! 30,000 บาท เอาไปทำอะไร เขาบอกว่า เมื่อแต่งงาน เงินเขาไม่พอ เลยไปกู้เงินที่อื่นมา แต่ใช้คืนไม่ได้เลยต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่งใช้คืนเงินต้นหมดแล้ว ต้องใช้ดอกเบี้ยจำนวนนั้นด้วยคือ 30,000 บาท ไม่นับ 10,000 บาทที่เราให้เขาไปแล้ว หมายความว่า ไปติดนุงนัง หนี้ไม่สามารถที่จะใช้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
ได้รู้อีกว่า ถ้าไม่ได้อย่างนี้เขาจะฆ่าตัวตาย เพราะว่าไม่มีทางออก เงินเดือนเขาไม่พอจะใช้หนี้ ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะว่าต้องติดอีกต่อไปทบต้น ก็เห็นว่าครั้งแรกเขายืมเงินสำหรับแต่งงานน่าจะมีความสุข กลับมีความทุกข์ เลยไหนๆ ให้ไป 10,000 บาท แล้วก็ให้ไปให้ครบที่จะไปใช้หนี้ได้ ลงท้ายเขาสามารถที่จะมีชีวิตต่อไปและทำงานได้ แต่คงเป็นบทเรียนที่ดี อันนี้หมายความว่า เขาขอเราก็ให้ เราจะได้ช่วยชีวิตเขา
มีอีกรายหนึ่งเป็นคนข้างนอกมาบอกว่า ลูกของเขาเจ็บตา ถ้าไม่ทำอะไรตาจะบอด เราก็สงสารเขา ให้เงินเขา 30,000 บาทเหมือนกัน ลงท้ายไม่ทราบว่าลูกเขาได้ไปผ่าตัดตาได้ผลดีอย่างไร แต่วันหนึ่งโผล่มาอีกทีบอกว่า รักษาตาลูกเรียบร้อยแล้ว แต่ขอบ้านอยู่ และบ้านนั้นเขาไปสืบเสร็จว่าบ้านนั้นว่าง แล้วมาขออยู่ฟรี เลยเลิกเลย เพราะเขาควรจะมีฐานะพอสมควรที่จะมีบ้านอยู่ บ้านที่ขอนี้นับว่าเป็นบ้านใหญ่ ถ้าขอบ้าน ถ้าให้บ้าน เขาก็ต้องมาขอค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านอีก เมื่อบ้านใหญ่คงมีญาติมีเพื่อนมาอาศัยบ้านก็ต้องเสียเงินอีก เลยบอกว่าไม่ให้ ที่พูดว่าไม่ให้นั้น เรียกว่ามีความเดือดร้อนเหมือนกันที่จะพูดอย่างนั้น จะว่าสงสารก็สงสาร เวลาใครมาขออะไร แล้วไม่สามารถที่จะให้มันก็ไม่ค่อยสบายใจ ในที่สุดก็เงียบไป ข้อเหล่านี้ที่เล่าให้ฟัง เพราะว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน
ทำอย่างเหมาะสมกับอัตภาพ
ขอเล่านิทานอีกเรื่อง คือ ไปทางชลบุรีครั้งหนึ่งก็หลายสิบปีแล้ว มีพ่อค้าคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาทำโรงงานสับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้ว่ากี่ล้านเพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากอย่างนั้นเลยบอกให้เขาทราบว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็กๆ ที่ทางภาคเหนือใช้เงิน 300,000 บาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขาย ก็ได้ผลเพราะเป็นโรงงานเล็กๆ แต่โรงงานเขาเองลงทุนเป็นล้านรู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่า ต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน ทำไปทำมาสับปะรดที่อำเภอบ้านบึงและที่ชลบุรีก็มีไม่พอ ต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี ต้องขนส่งมา ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม อย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ทำโครงการอะไร ต้องให้นึกถึงขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่า อัตภาพหรือกับสิ่งแวดล้อม
รอบคอบและอย่าตาโต
นี่พูดไปพูดมายังคิดถึงอีกรายหนึ่งที่ลำพูน มีการตั้งโรงงานสำหรับแช่แข็งผลผลิตของชาวไร่ได้ไปเยี่ยม แล้วเขาบ่นว่า คุณภาพของข้าวโพดที่ใช้ใส่กระป๋องสำหรับแช่แข็ง คุณภาพไม่ค่อยดี เขาบอกว่าซื้อในราคาแพงไม่ได้ ตอนนั้นไม่ทราบว่าเขาจะมีอันเป็นอย่างไร ได้บอกเขาว่าน่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ให้ได้ข้าวโพดที่คุณภาพดี โรงงานจะเจริญ เขาบอกว่าให้ไม่ได้ เพราะว่าคุณภาพเขาไม่ดี อันนี้เป็นปัญหาโลกแตก ถ้าไม่ให้ราคาดี หรือไม่สนับสนุนเกษตรกรก็ทำให้ข้าวโพดคุณภาพดีไม่ได้
เรื่องนี้ตอนแรกอาจจะดูเหมือนขาดทุน ดูจะไม่ได้ประโยชน์ จะไม่ได้คุณภาพ จะได้ข้าวโพดที่ฟันหลอ ซึ่งเขาบอกเขาต้องทิ้ง เพราะว่าเครื่องจักรของเขาต้องมีข้าวโพดที่มีขนาดที่เหมาะสม เมื่อเป็นอย่างนั้น ความจริงไม่ได้แช่งเขา แต่นึกในใจว่าโรงงานอยู่ไม่ได้ และในที่สุดก็จริงๆ ก็ล้ม อาคารอะไรต่างๆ ยังอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกะกะอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นการที่จะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วยความรอบคอบและอย่าตาโตเกินไป
คือบางคนเขาเห็นว่า แม้มีโอกาสที่จะทำโครงการอย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่าปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ ปัจจัยคือ ขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถจะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ วัตถุดิบ เอาวัตถุดิบมาแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนกับเกษตรกรที่นำวัตถุดิบมาส่ง ยิ่งถ้าวัตถุดิบสำหรับทำในโรงงานนั้นเป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าก็ยิ่งยาก เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคาไม่สม่ำเสมอ บางปีวัตถุดิบนั้นบริบูรณ์ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ทำที่ผลิตจากโรงงาน หรือจากกิจการก็ขายยากเหมือนกัน เพราะมีมากจึงทำให้ราคาตก อันนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องมี
ข้อสำคัญอยากจะพูดถึงว่า ถ้าหากว่าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่ว่าจะไม่ล้ม หรือถ้าล้มถ้ามีอันตรายไปก็ไม่เสียมาก เช่น โรงงานกระป๋องที่ริเริ่มทำที่อำเภอฝางนั้น วันหนึ่งเขาติดต่อมาบอกว่าน้ำท่วม น้ำจากเขาลงมาพัดโรงงานเสียหาย เลยบอกว่าไม่เป็นไรจะสนับสนุนเงินเพิ่มเติม เพราะที่ดินตรงนั้นซื้อแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ก็ไม่เสียหมด ก็สนับสนุนเขาอีก 400,000 ก็ตั้งขึ้นมาใหม่ต่อไป ก็ใช้งานได้มีกำไร อันนี้หลายปีมาแล้ว
เศรษฐกิจแบบพอเพียง
มาใหม่ๆ นี้ โครงการต่างๆ ก็เกิดขึ้น โรงงานก็เกิดขึ้นมาก จนกระทั่งคนเขานึกว่าประเทศไทย เป็นเสือตัวเล็กๆ และเป็นเสือตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่าจะเป็นเสือ ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัว อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก

ไม่มีความคิดเห็น: